ความเป็นมา
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2477 เป็น “โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้ผู้หญิงในขณะนั้นได้มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการบ้านการเรือนที่ดี เป็นโรงเรียนการเรือนแห่งแรกของประเทศไทยใช้สถานที่วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เป็นสถานที่เรียน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ) ต่อมาปี พ.ศ.2480 จึงได้ย้ายมาอยู่ที่สวนสุนันทา (ที่ตั้งปัจจุบัน) ปีพ.ศ.2483 กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายที่จะพัฒนาการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยขึ้นจึงได้จัดตั้ง”โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ” ขึ้น ในพื้นที่ติดกับโรงเรียนการเรือนเป็นโรงเรียนอนุบาลของรัฐแห่งแรกในประเทศ โรงเรียนการเรือน และโรงเรียนอนุบาลแยกการบริหารการจัดการออกจากกัน ไม่ขึ้นต่อกันและพัฒนาควบคู่กันมาโดยตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ.2504 โรงเรียนการเรือน เปลี่ยนสถานภาพเป็นวิทยาลัยครูสวนดุสิตแต่ก็ยังแยกการบริหารจัดการออกจากโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ วิทยาลัยครูสวนดุสิตระยะแรกผลิตครูทางด้านคหกรรมศาสตร์ ที่พัฒนามาจากการเรือน เป็นหลัก ส่วนโรงเรียนอนุบาลลอออุทิศก็มีแผนกฝึกหัดครู ผลิตครูอนุบาล ควบคู่ไปกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กอนุบาล ปี พ.ศ.2518 เมื่อมีพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ.2518 โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จึงได้ย้ายมารวมกับวิทยาลัยครูสวนดุสิต ทั้งแผนกฝึกหัดครูและเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ การพัฒนาของวิทยาลัยครูสวนดุสิตจะเน้นในด้านคหกรรมศาสตร์ และการศึกษาปฐมวัยเป็นหลัก
ในปี พ.ศ.2528 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.วิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2528 วิทยาลัยครูสามารถผลิตบัณฑิตสาขาวิชาการอื่นได้ การพัฒนาหลักสูตรใหม่ก็พัฒนามาจากพื้นฐานเดิม เช่น การอาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย ศิลปะประดิษฐ์ อุตสาหกรรมบริการ พัฒนามาจากคหกรรมศาสตร์ การศึกษาปฐมวัย ถูกพัฒนาให้เข้มแข็งและสัมพันธ์กับหลักสูตรอื่นๆ การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาพิเศษเพิ่มขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานจากเด็กปฐมวัยที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
พ.ศ.2538 วิทยาลัยครูสวนดุสิตเปลี่ยนสถานภาพเป็น สถาบันราชภัฏสวนดุสิต ตาม พ.ร.บ.สถาบันราชภัฏ พ.ศ.2538 ในการจัดทำแผนกกลยุทธ์ของสถาบันราชภัฏสวนดุสิตได้มีการกำหนดอัตลักษณ์ของสถาบันเอาไว้ 4 ด้านด้วยกันคือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมบริการ การศึกษาปฐมวัย และการศึกษาพิเศษ โดยหลักสูตรต่างๆ ของสถาบัน จะต้องมีการพัฒนาบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ของสถาบัน การใช้งบประมาณบุคลากร ทุนการศึกษาของบุคลากร ล้วนเน้นหนักในด้านอัตลักษณ์ทั้ง 4 ด้าน รวมทั้งการทำให้ปรากฏในการยอมรับของสังคมภายนอกด้วย จากการออกไปรับงานต่างๆ ที่เป็นส่วนสนับสนุน เช่น การทำอาหารในงานกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 การดูแลห้องพักนักกีฬา เป็นต้น
พ.ศ. 2547 สถาบันราชภัฏสวนดุสิต เปลี่ยนสถานภาพเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 การพัฒนางานของมหาวิทยาลัยยังคงเน้นหนักในด้านอัตลักษณ์เดิมที่สืบเนื่องมาจากสถาบันราชภัฏ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 80 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอน ความเข้มแข็งทางวิชาการ อยู่บนพื้นฐานเดิมของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด จนสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2552-2556) ต่อเนื่องมาถึงแผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557-2560 ได้มีการกำหนดไว้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยจะมุ่งเน้นไปด้านอาหาร อุตสาหกรรมบริการ การศึกษาปฐมวัย และพยาบาลศาสตร์ และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 โรงเรียนการเรือน (School of Culinary Arts) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานเทียบเท่าคณะ โดยการอนุมัติของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยและมีข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตว่าด้วยโรงเรียนการเรือน พ.ศ. 2553 เป็นข้อบังคับในการบริหารจัดการของโรงเรียนการเรือน
ปัจจุบัน โรงเรียนการเรือน มีการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี แบ่งตามหลักสูตร 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ประกอบด้วยสาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ สาขาวิชาเทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร และสาขาวิชาโภชนาการและการประกอบอาหาร และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ได้แก่ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์
ภารกิจด้านการสนับสนุนการจัดการศึกษาและฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มีหน่วยงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีภารกิจแตกต่างกัน ดังนี้
- ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ มีภารกิจดูแลห้องปฏิบัติการอาหารให้พร้อมในการจัดการเรียนการสอน จัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านอาหารให้กับบุคคลภายนอก และจำหน่าย เบเกอรี่
- ศูนย์ปฏิบัติการเนย มีภารกิจในการผลิตและจำหน่ายเนยและเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษา
- โรงน้ำดุสิตา มีภารกิจในการผลิตและจำหน่ายน้ำดื่ม และเป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษา
- งานอนามัยและสุขาภิบาลอาหาร มีภารกิจในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลให้กับบุคลากร นักศึกษา และตรวจสอบคุณภาพของสถานที่ผลิตและบริการอาหาร
ปรัชญา: โรงเรียนการเรือนคือผู้นำด้านอาหาร
วิสัยทัศน์: โรงเรียนการเรือนเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศด้านการประกอบอาหารไทย และการจัดตกแต่ง ในปี 2020
พันธกิจ: โรงเรียนการเรือนเป็นหน่วยงานผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพทางวิชาชีพขั้นสูงด้านการประกอบอาหาร และการจัดตกแต่ง การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมเพื่อเผยแพร่และเป็นแหล่งอ้างอิงแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
ประเด็นยุทธศาสตร์
- การผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีทักษะด้านการประกอบอาหารไทยและการจัดตกแต่ง และมีคุณลักษณะความเป็นสวนดุสิตที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน
- การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมในด้านที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้บริการวิชาการและเป็นแหล่งอ้างอิงสังคม
- การประสานประโยชน์และความร่วมมือในการพัฒนาความรู้และนวัตกรรมของโรงเรียนการเรือนและหน่วยงานภายนอกเพื่อบริการวิชาการ
- การรักษาบุคลากรที่เป็นเลิศและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา
- การบริหารจัดการโรงเรียนการเรือนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อความอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน
เป้าประสงค์:
- การจัดการเรียนการสอนเน้นการบูรณาการสู่การทำงานจริง (Work – based Learning) และบัณฑิตได้รับการยอมรับเป็นไปตามความต้องการของสังคมและตลาดแรงงาน
- การเผยแพร่ผลงานทางวิชาการระดับชาติ/ นานาชาติ และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้/ นวัตกรรมในการเรียนการสอนและการบริการวิชาการ
- สร้างประโยชน์จากความร่วมมือในการบริการวิชาการ
- บุคลากรได้รับการพัฒนาไปสู่ความเป็นมืออาชีพ และมีความเข้าใจองค์กร
- การบริหารจัดการองค์กรแบบมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล
สมรรถนะหลักของโรงเรียนการเรือน
เชี่ยวชาญด้านการประกอบอาหารไทย และการจัดตกแต่ง การบูรณาการศาสตร์ด้านอาหาร เป็นแหล่งอ้างอิงองค์ความรู้ และนวัตกรรมแก่สังคม
วัฒนธรรมองค์การ
1) บุคลากรและนักศึกษามีบุคลิกภาพที่ดี
2) ศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านอาหาร
3) มีวินัย คุณธรรม จริยธรรมและรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
4) สามารถใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์
5) มีความประณีตและรู้จริงในงานที่ทำ
ค่านิยม SCA
S = Specialization ความเชี่ยวชาญเฉพาะ
C = Creative สร้างสรรค์พัฒนาองค์ความรู้
A = Attraction ความมีเสน่ห์จากบุคลิกภาพเฉพาะของบุคลากรและนักศึกษา