ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ โรงเรียนการเรือน ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2566
“ปาท่องโก๋จริง ๆ แล้วเรียกว่าอะไร..”
รู้หรือไม่ว่า “ปาท่องโก๋” จริงๆ แล้วไม่ได้เรียกว่า “ปาท่องโก๋” ..ความจริงแล้ว ปาท่องโก๋ ที่เรารู้และเข้าใจนั้น มีชื่อจริงๆ เรียกว่า อิ่วจาก้วย ในสำเนียงแต้จิ่ว, โหยวจ๋ากั่ว (油炸粿) ในสำเนียงกลาง, โหยวเถียว (油條) ในจีนกลาง เหยาจากวั๋ย ในสำเนียงกวางตุ้ง, และ อิ่วเจี่ยโก้ย ในสำเนียงฮกเกี้ยน แปลว่า ขนมทอดน้ำมัน
“อิ่วจาก้วย” (油炸粿) เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลตรงตัวว่า ขนมทอดน้ำมัน ทำมาจากแป้งสาลี นำมาตัดเป็นท่อน ๆ ประกบติดกันเป็นคู่ แล้วทอดในน้ำมันจนพอง สีน้ำตาลสวยน่ารับประทาน ในภาษาฮกเกี้ยน เรียกว่า “อิ่วเจี่ยโก้ย” ปัจจุบันในภาษาจีนกลางเรียกขนมชนิดนี้ว่า “โหยวเถียว”( 油条) แปลว่า เส้นทอดน้ำมัน จะมีลักษณะยาวและใหญ่กว่าปาท่องโก๋ของไทย มักกินคู่กับโจ๊กหรือน้ำเต้าหู้
ส่วนคำว่า “ปาท่องโก๋” (白糖糕) แผลงมาจากภาษากวางตุ้งคำว่า “แปะทึ้งโก๊” แปลว่า ขนมน้ำตาลขาว เป็นขนมรูปทรงสี่เหลี่ยม ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าและน้ำตาลทราย เนื้อสัมผัสนุ่มเหมือนขนมถ้วยฟู ในภาษาจีนกลางเรียกว่า ‘ไป๋ถังเกา’ ลักษณะแตกต่างจากปาท่องโก๋ที่คนไทยเรียกกันโดยสิ้นเชิง
สาเหตุที่คนไทยเรียก “อิ่วจาก้วย” ว่าปาท่องโก๋
คาดว่ามาจากในสมัยก่อน พ่อค้าแม่ค้ามักจะขายขนมหลาย ๆ อย่างรวมกัน มีทั้งปาท่องโก๋และอิ่วจาก้วย เวลาขายก็จะเรียกชื่อขนมคู่กัน คนส่วนใหญ่ก็จะจำชื่อแรกได้มากกว่า ทำให้เข้าใจว่าอิ่วจาก้วยคือปาท่องโก๋นั่นเอง ส่วนคนภาคใต้เรียกว่า “จาโก้ย” ซึ่งเรียกได้ใกล้เคียงกับชื่อดั้งเดิมมาก