“โรคที่มากับฤดูฝน”

ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้
ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ
โรงเรียนการเรือน
ประจำวันที่ 20 สิงหาคม 2566

“โรคที่มากับฤดูฝน”

ในฤดูฝน อากาศเริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนี้ เป็นสาเหตุทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว โรคที่สำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในฤดูนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝน

1.โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอH1N1 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ ที่ขณะนี้พบการระบาดทั่วประเทศ และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปี เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้

2.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่
-ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้านซึ่งจะวางไข่ในน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่าง ๆ ผู้ป่วยระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลง พร้อมกับอาจจะมีอาการเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อคได้
-ไข้สมองอักเสบเจอี(Japanese Encephalitis)มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการซึมลงหรือชักได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือพิการหากไม่ได้รับการรักษา
-โรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงหนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมองได้

3.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนังที่พบบ่อย
-โรคแลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู อาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง ประมาณร้อยละ5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้ โรคนี้มักเป็นเกิดในที่ที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝนต้องระวังอีก 2 เรื่อง คือ
– ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนาน ๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก
– อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน

สิ่งที่ต้องระวัง คือ การรับประทานยาลดไข้ เช่น ห้ามกินยาในกลุ่มแอสไพรินอย่างเด็ดขาด เพราะมีอันตรายกับบางโรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคฉี่หนู ซึ่งโรคดังกล่าวจะทำให้มีเลือดออกตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายอยู่แล้ว หากได้รับยาแอสไพริน ซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีก จะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ทำให้เสียชีวิตได้ง่ายขึ้น และอาจเกิดเป็นกลุ่มอาการไรซินโดรม ซึ่งมีผลต่อทุกอวัยวะในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองและตับ อาการที่พบ ได้แก่ ผู้ป่วยอาเจียนอย่างมาก และมีอาการทางสมอง เช่น สับสน มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึมและหมดสติ จนเสียชีวิตได้