ขอประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้
ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ โรงเรียนการเรือน
ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2566
“กินอย่างไร…ให้ห่างไกลกรดไหลย้อน”
โรคหลายโรคมักเกิดจากการกินเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งโรคกรดไหลย้อนซึ่งเป็นโรคที่คนยุคนี้เป็นกันเยอะก็มีสาเหตุมาจากการกินนั่นเอง
หลายคนอาจเข้าใจว่า โรคกรดไหลย้อนจะมีแค่ปวด จุก แน่นท้อง เรอเปรี้ยว และแสบหน้าอกเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วกรดไหลย้อนเป็นภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหาร และถ้ามีมากพอก็อาจจะไหลย้อนขึ้นไปที่กล่องเสียง คอหอย และช่องทางเดินของหูได้
ถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปที่กล่องเสียง ก็อาจมีอาการเสียงแหบเรื้อรังทุกเช้า แต่พอสาย ๆ ก็จะหายไปเอง
ถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปที่คอหอย ก็อาจรู้สึกว่ามีก้อนอะไรจุกอยู่ในคอ มักจะไอหรือกระแอมเป็นประจำ ไม่มีไข้ ไม่มีเสมหะ…ถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปที่ช่องทางเดินของหูก็อาจจะมีอาการหูอื้อเป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่ให้หมอตรวจแล้วว่าหูปกติดี เป็นต้น
ความเสี่ยงของการเกิดโรคกรดไหลย้อน คือ การกินอาหารรสเผ็ดมาก ๆ หรือรสเปรี้ยวมาก ๆ หรือการกินอาหารประเภททอดที่มีไขมันสูง การดื่มเครื่องดื่มประเภทชูกำลัง น้ำอัดลม กาแฟ เป็นต้น
การป้องกันการเกิดกรดไหลย้อนนั้น มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
1. งดกินอาหารที่มีรสเผ็ด หรือรสเปรี้ยวมาก ๆ เพราะจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากยิ่งขึ้น
2. ไม่กินอาหารทอดที่มีน้ำมันเยอะ ๆ เพราะไขมันจะไปรวมกับกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการจุก แน่น หรือร้อนที่กลางอกได้
3. ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทหอมหัวใหญ่ กระเทียม ใบสะระแหน่ หรือเปปเปอร์มินต์
4. ไม่รับประทานกรดเข้าไปเพิ่ม เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง เติมน้ำส้มสายชูในอาหาร หรือสูบบุหรี่
5. กินอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียด ไม่รีบกินจนเกินไป และไม่ควรงดอาหารมื้อเช้า
6. หากรับประทานอาหารเสร็จแล้วในแต่ละมื้อ ถ้าไม่อยากให้เป็นกรดไหลย้อน แนะนำว่ายังไม่ควรนั่ง หรือนอนราบทันที แต่ให้เดินแกว่งแขนสัก 20-30 นาที
7. ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง เพราะนมเป็นอาหารที่ค่อนข้างย่อยยาก กระเพาะจึงต้องหลั่งกรดออกมามากเป็นพิเศษ
8. ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะอาจเป็นการกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดออกมามาก
9. พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายจิตใจให้สบาย ควรปล่อยวาง และลดความเครียดในทุก ๆ เรื่อง