5 วิธีลดขยะอาหารในครัวเรือน ลดโลกร้อน

ขอประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ โรงเรียนการเรือน
ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566

5 วิธีลดขยะอาหารในครัวเรือน ลดโลกร้อน

หลายคนคงเคยกินอาหารในจานไม่หมดแล้วกวาดลงถังขยะ ทิ้งเศษผักผลไม้ในขั้นตอนเตรียมอาหาร ตุนอาหารทิ้งไว้จนเสียในตู้เย็น จนเกิดเป็นขยะอาหาร สถิติที่น่าตกใจคือมีปริมาณอาหาร 1 ใน 3 ของโลก ถูกทิ้งเป็นขยะ อาจลองสังเกตง่าย ๆ ว่าในแต่ละวันเราทิ้งอาหารเหลือจากแต่ละมื้อกันไม่น้อยเลย แล้วลองจินตนาการเป็นปริมาณที่คนทั้งโลกเหลือทิ้งรวมกัน มีมากถึง 1,300 ล้านตันต่อปี ซึ่งขยะอาหารเหล่านี้จะถูกฝังกลบหรือกองรวมกัน ในระหว่างกระบวนการย่อยสลายจะผลิตก๊าซมีเทนออกมา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของภาวะเรือนกระจก ร่วมกับการใช้ถุงหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิถีชีวิตที่เน้นความสะดวกสบาย ยิ่งเป็นตัวเร่งสภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงขึ้น
แต่รู้หรือไม่ว่าเพียงเราทุกคนมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไม่ยาก เพียงหันมาใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อ การรักษาจัดเก็บ การเตรียมและทำอาหาร ก็สามารถช่วยลดปริมาณขยะอาหารในครัวเรือน ลดการใช้พลาสติก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตาม 5 วิธีง่าย ๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างสุขภาพจากพฤติกรรมการกินที่ดีของทั้งตัวเองและคนในบ้าน รวมถึงตอบโจทย์เรื่องการสร้างสุขอนามัยที่ดีภายในบ้านอีกด้วย

5 วิธีลดขยะง่าย ๆ เริ่มต้นได้ที่บ้าน
1. วางแผนจ่ายตลาดให้พอดี
แนะนำให้วางแผนเมนูอาหารที่จะทำในแต่ละสัปดาห์ เช็ควัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอยู่แล้ว แล้วจึงลิสต์รายการและปริมาณที่ต้องซื้อเพิ่มประจำวันหรือสัปดาห์เอาไว้พยายามซื้อของเฉพาะแค่ในรายการที่ต้องการ การวางแผนเช่นนี้สามารถช่วยป้องกันการซื้อของเกินความจำเป็นและลดปริมาณอาหารที่เหลือจากการบริโภค หรืออาหารที่หมดอายุให้กับครอบครัวได้ นอกจากนี้ การออกไปตลาดหรือชอปปิ้งในซุปเปอร์มาร์เกต ควรนำถุงผ้าหรือภาชนะใส่อาหารที่ใช้ซ้ำได้ติดตัวออกไปด้วยทุกครั้งให้เป็นนิสัย เพื่อลดการใช้พลาสติก

2. อ่านฉลากวันหมดอายุให้เข้าใจ
เพิ่มความใส่ใจข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่จะซื้อเข้าบ้านด้วยการอ่านฉลากเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้จัดการกับวัตถุดิบได้ดีขึ้น เข้าใจวิธีการเก็บรักษาที่เหมาะสมจากคำแนะนำที่เขียนไว้ จึงช่วยยืดอายุอาหารออกไปได้ รวมไปถึงรู้กำหนดวันที่ระบุไว้ โดยตัวย่อบนฉลากอาหารที่ควรรู้ คือ
• MFG / MFD (Manufactured ate) คือ วันที่ผลิตอาหาร
• MFD (Expiration date), EXP (Expiry date) คือ วันหมดอายุ ไม่สามารถกินได้หลังจากวันที่ระบุไว้ อาหารอาจเน่าเสียหรือบูด
• BB / BBE (Best before / Best before end) คือ ควรบริโภคก่อนวันที่ระบุ แต่แม้จะเลยวันที่กำหนดแล้ว ก็ยัง สามารถบริโภคได้ต่อ โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพียงแต่คุณค่าทางโภชนาการ หรือคุณภาพอาหารอาจลดลง เช่น เนื้อสัมผัส สี ความหนืด เป็นต้น
ทุกครั้งก่อนจะนำผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาประกอบอาหาร ควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ให้ดีว่าไม่มีรอบบุบ ไม่บวม รูปทรงไม่ผิดรูปไปจากเดิม หรือมีสนิมเกาะ ถ้ามีลักษณะเหล่านี้ควรตัดใจทิ้งโดยไม่ต้องเสียดาย เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

3. จัดเก็บให้ถูกที่ ช่วยยืดอายุอาหาร
เพียงรู้จักและเลือกวิธีเก็บรักษาอาหารแต่ละประเภทให้ถูกต้องก็ช่วยยืดอายุอาหารออกไปได้นานขึ้น ทุกครั้งหลังจากจัดการทำความสะอาดหรือตัดแต่งวัตถุดิบต่าง ๆ แล้ว แนะนำให้เขียนวันที่ซื้อมาแปะไว้ช่วยให้ใช้ของได้ทันเวลา ป้องกันของเสียเพราะอาจจะหลงลืมไป โดยเฉพาะของสดที่ควรแช่ในตู้เย็นในช่องแช่ที่เหมาะสม เช่น
• เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ตัดแต่งหรือแบ่ง แยกเก็บในภาชนะที่สะอาด เช่น กล่องหรือใส่ถุงซิปล็อก แช่ในช่องฟรีซ
• นม โยเกิร์ต กะทิ เก็บไว้ชั้นบนสุดใต้ช่องฟรีซ อุณหภูมิเย็นจัดคงที่เหมาะกับอาหารที่เสียง่าย
• ไข่ เนย ซอส ไม่ต้องการความเย็นมาก ใส่ตะกร้าหรือกล่องให้เป็นสัดส่วน สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นฝั่งบานประตู
• ผัก ผลไม้ ใส่ถุงใสเจาะรูให้อากาศถ่ายเท เก็บในช่องแช่ผักช่วยรักษาความสด
• ถั่ว ธัญพืชต่างๆ ควรตากให้แห้งสนิท แล้วเก็บในภาชนะที่สะอาด ไม่อับชื้น
• กระเทียม หอมแดง ผึ่งหรือแขวนไว้ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท
• อาหารแห้ง เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิดเป็นสัดส่วน ไม่วางทับปนเปกัน เพื่อป้องกันแมลงมารบกวน

4. จัดระเบียบในตู้เย็น
การจัดระเบียบตู้เย็น ควรวางของที่ใหม่กว่าใส่ไว้ด้านในสุด จะได้ไม่ลืมอาหารที่ถูกเก็บไว้นานจนเสีย ช่วยลดการทิ้งขยะอาหารลงได้ และยังทำให้หยิบอาหารสะดวกขึ้น มองเห็นของเป็นสัดเป็นส่วน ซึ่งตู้เย็นสามารถกระจายความเย็นทั่วถึงกันช่วยยืดอายุอาหาร ให้เน่าเสียช้าลงได้ รวมไปถึงการทำความสะอาดตู้เย็นเป็นประจำโดยน้ำเปล่าผสมใช้เบกกิงโซดาหรือน้ำยาล้างจานอ่อน ๆ เช็ดแต่ละชั้น และเช็ดซ้ำด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยลดการสะสมของคราบสกปรก ลดกลิ่นอาหารและกลิ่นอับได้

5. ทำอาหารให้พอทาน ตักใส่จานแต่น้อย
การทำอาหารกินเองเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดขยะอาหารในครัวเรือน นอกจากจะช่วยในเรื่องการควบคุมปริมาณอาหารได้ตั้งแต่ต้นทางเพียงคะเนปริมาณการทำอาหารให้พอดีกับจำนวนคนในบ้าน ไม่มากเกินไปจนเหลือทิ้ง และยังช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น ถุงพลาสติก, จาน ช้อน ภาชนะพลาสติก, กระป๋องหรือกล่องโฟม ที่เป็นภาชนะอาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น อาหารแช่แข็ง, อาหารสำเร็จรูป, อาหารพร้อมทาน รวมไปถึงการสั่งแบบเดลิเวอรี

ทั้ง5วิธีลดขยะในครัวเรือนเป็นอีกแนวทางที่เอื้อต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมลดปริมาณขยะอาหารซึ่งเป็นการลดปัญหาภาวะเรือนกระจกได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน นำไปสู่อนาคตที่สมดุลและน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือส่งผลให้เกิดพฤติกรรมใหม่ที่ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีและความสะอาดในบ้าน