ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ข่าวสารของโรงเรียนการเรือน ประจำวันพุธที่ 28 มิถุนายน 2566
ขยะอาหาร (Food Waste) และการสูญเสียอาหาร (Food Loss)
โลกของเรามีทรัพยากรเพียงพอที่จะผลิตอาหารให้แก่มนุษย์ทุกคน แต่ในปัจจุบันมีอาหารมากถึง 1 ใน 3 ส่วนของอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมดถูกทิ้งกลายเป็น “ขยะอาหาร” โดยคิดเป็นน้ำหนักกว่า 1.3 พันล้านตันทั่วโลกทุกปี เป็นอาหารที่สูญเปล่าไปแทนที่จะถูกนำไปเลี้ยงดูผู้คนที่ขาดแคลนในประเทศต่าง ๆ ซึ่งสถานการณ์ปริมาณขยะอาหารในแต่ละภูมิภาคของโลกแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยการผลิต การจัดการภายในห่วงโซ่อาหาร และพฤติกรรมของผู้บริโภค
สหรัฐอเมริกา : ชาวอเมริกันทิ้งอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้เฉลี่ยคนละ 0.4 กิโลกรัมต่อวัน และมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณขยะอาหารมาจากภาคครัวเรือน ไม่ใช่ร้านอาหารหรือการจัดการของร้านสะดวกซื้อ
ประเทศไทย : มีการสร้างขยะมูลฝอยเฉลี่ยคนละ 1.3 กิโลกรัมต่อวัน โดยที่ร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมดเป็นขยะอาหาร อีกทั้ง การขาดประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหาขยะเหล่านี้อย่างเหมาะสม ทำให้ขยะอาหารราว 20 ล้านตันต่อปีของไทยกลายเป็นขยะตกค้างที่ถูกนำไปฝังกลบ
ฝรั่งเศส : เป็นประเทศต้นแบบของการจัดการกับขยะอาหารที่มีประสิทธิภาพ มีกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านขยะอาหาร กำหนดให้ร้านค้าปลีกที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 400 ตารางเมตรขึ้นไป บริจาคสินค้าอาหารที่ยังรับประทานได้แก่มูลนิธิรับบริจาคอาหารต่าง ๆ