#บัวลอยเผือก#
บัวลอยเผือกถือเป็นเมนูขนมหวานชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เนื่องจากเป็นเมนูที่มีความพิถีพิถันในการทำ ในส่วนผสมของเผือกประกอบด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่มีคุณประโยชน์หลากหลาย อาทิ แคลเซียม ฟอสฟอรัส ฟลูออไรด์ เป็นต้น [2]
เมนูบัวลอยเผือกนี้ เริ่มตั้งแต่ในสมัยคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ ครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนการเรือน ได้มีโอกาสชิมบัวลอยเผือกจาก “ฟู้ดแลนด์” ซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังสมัยนั้น เห็นว่ามีรสชาติที่อร่อยและมีคุณประโยชน์ จึงมีดำริให้อาจารย์สำรอง ปิ่นน้อย และบุคลากรด้านอาหาร นำไปทำและพัฒนาตำรับเพื่อการบริโภคและใช้ในงานจัดเลี้ยงของหน่วยงานภายในและภายนอกสำคัญในงานพิธีต่างๆ สืบต่อเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันมี “ป้าจัน” หรือนางจันทิมา เกสร เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ภายใต้การกำกับดูและของโครงการอาหารกลางวัน1 โดยมีอาจารย์พัสสนันท์ แย้มฉ่ำไพร เป็นผู้ดูแล
บัวลอยเผือกทุกท่านสามารถนำไปทำเพื่อรับประทานโดยมีส่วนผสมดังนี้
-เผือกนึ่งสุก 500 กรัม
-แป้งข้าวเหนียว 500 กรัม
-น้ำสะอาด 200 กรัม
ส่วนผสมน้ำกะทิ
-กะทิ 2000 กรัม
-น้ำตาลทราย 300 กรัม
-เกลือ 8 กรัม
-ใบเตย 10 ใบ
ขั้นตอนวิธีการทำบัวลอยเผือกเริ่มจาก
-นำเผือกล้างทำความสะอาด หั่นเป็นท่อนนำไปนึ่งให้สุก บดให้เผือกละเอียด
-นำแป้งข้าวเหนียว เผือกที่บดแล้ว ใส่ในอ่างผสม ใส่น้ำใบเตยต้มสุกลงไป นวดให้เข้ากัน ปั้นให้เป็นก้อนกลม
-ตั้งน้ำให้เดือด ใส่บัวลอยที่ปั้นแล้วลงในหม้อ พอบัวลอยเริ่มสุก นำไปใส่ในน้ำกะทิที่เตรียมไว้
วิธีการทำน้ำกะทิ
-นำกะทิตั้งไฟใส่ใบเตย ใช้ไฟกลางค่อนอ่อน พอกะทิเริ่มเดือดปิดเตา ใส่น้ำตาลทรายและเกลือ คนจนน้ำตาลทรายและเกลือละลาย จากนั้นใส่มะพร้าวอ่อนตามชอบปัจจุบันการทำบัวลอยเผือกถูกสอนอยู่ในรายวิชาอาหารสวนดุสิต ซึ่งนักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับ เอกลักษณ์อาหารสวนดุสิต เครื่องปรุง เครื่องแนม เครื่องจิ้ม เครื่องเคียง เทคนิคการประกอบอาหาร การจัดสำรับอาหาร อุปกรณ์เครื่องมือและการจัดบริการอาหาร การจัดตกแต่งโต๊ะอาหาร การเลือกใช้ผ้าในการจัดบริการอาหาร การจัดดอกไม้บนโต๊ะอาหาร มาตรฐานการบริการและบุคลิกภาพที่เหมาะสมในการให้บริการอาหาร เพื่อต่อยอดองค์ความรู้สามารถนำไปพัฒนาธุรกิจในการสร้างอาชีพต่อไป